0 Comments
จาก การที่อาจารย์ภิรมย์ จั่นถาวร อาจารย์ คณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ต้องมาจากไปอย่างกระทันหัน ด้วยวัย 79 ปี ในฐานะที่ได้รู้จักและผูกพันกันมากว่าสี่ทศวรรษ ผมอยากบันทึกเรื่องราวเป็นความทรงจำเกี่ยวกับอาจารย์ไว้
เรารู้จักกันปี 2519 อาจารย์เป็นเป็นศิษย์เก่าเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์รุ่นพี่ คือรุ่นคุณทินวัฒน์ มฤคาพิทักษ์ เข้าธรรมศาสตร์ก่อนผม 8 ปี ตอนที่เราเจอกัน ผมเป็นนักศึกษาปริญญาโทเศรษฐศาสตร์ภาคภาษาอังกฤษ อาจารย์เพิ่งจบ ปริญญาโท กลับมาจาก University of the Philippines เจอกันครั้งแรกในการสัมมนาเรื่องความไม่เท่าเทียมของการกระจายรายได้ เนื่องจาก ตอนที่เรียนปริญญาโทผมได้ รับทุนเพื่อให้เป็นอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ เลยมีโอกาสได้ไปสอบภาษาอังกฤษ ที่เอยูเอ เพื่อเตรียมไปเรียน ปริญญาเอก พร้อมอาจารย์ภิรมย์และอาจารย์กุณฑล ศรีเสริมโภค (ท่านพึ่งเสียก่อนอาจารย์ภิรมย์สัปดาห์เศษ) เราทั้งสามคนไปเรียนปริญญาเอกที่อเมริกาในปี 2521 โดยไปคนละมหาวิทยาลัย ผมกลับมาก่อนอาจารย์ภิรมย์ เพราะอาจารย์ย้ายมหาวิทยาลัย จึงจบช้ากว่าผม เมื่ออาจารย์ภิรมย์กลับมาสอนที่ธรรมศาสตร์ ท่านเป็นคุณพ่อเลี้ยงเดี่ยว single dad มีลูกเล็กสองคนคือน้องต้นและน้องน้อย ผมกับอาจารย์ภิรมย์ แม้เรียนคนละ major แต่ก็คุยกันได้ดี ช่วงอาจารย์กลับมานั้นผมยังเป็นโสด อาจารย์ก็โสดครั้งที่สอง เราเลยได้ไปไหนมาไหนด้วยกันตลอด มีไปกับสาวสาวเป็นบางครั้ง จำได้ไปฟังเพลงกันที่โรงแรมแอมบาสซาเดอร์และดุสิตธานีที่ฮอตมากสมัย 30 ปีก่อน แต่ไม่นานเราก็สละโสด ผมได้รับเกียรติให้เพื่อนเจ้าบ่าวอาจารย์ภิรมย์ จำได้ว่าไปขอเจ้าสาวที่บ้านลาดหญ้าไปกันสามคนที่เพื่อนเจ้าบ่าว มีอาจารย์สมยศ เชื้อไทย มีผมและมีอาจารย์จาก มหาวิทยาลัยสุโขทัยอีกท่าน สำหรับงานแต่งงานจัดที่โรงแรม majestic ถนนราชดำเนินมีผมเป็นอาจารย์คนเดียวจากคณะเศรษฐศาสตร์ที่เป็นแขกของงาน หลังจากนั้นความสัมพันธ์เราดีขึ้นตลอด อาจารย์มาทานข้าวกับผมหลายครั้งที่บ้านคุณแม่ผมและคุ้นเคยกับคุณแม่ของผม ตอนหลังเราย้ายบ้านไปอยู่บางกรวยใกล้กันนิดเดียว จากการพบกันบ่อย ผมก็รู้เรื่องราวของอาจารย์ลึกลึกหลายเรื่อง เราห่างกันไปบ้างตอนผมเป็นผู้บริหารของคณะและมหาวิทยาลัย ผมไม่ได้ชวนท่านไปร่วมงานในฐานะผู้บริหารด้วย เพราะรู้ว่าท่านไม่ชอบงานบริหาร (แต่ครั้งหนึ่งท่านก็เคยเป็นรองคณบดีฝ่ายการนักศึกษาและเป็นผู้บริหารมหาวิทยาลัยเอกชนตอนเกษียณแล้ว) แต่ก็ยังเจออาจารย์อยู่เพราะอาจารย์เป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์หลายสมัย หลังที่เราเกษียณจากราชการ เราคบกันแบบเจอกันเดือนสองเดือนครั้ง ถ้าไปงานคณะตอนกลางคืน บางครั้งไปด้วยกัน อาจารย์ขับรถให้ผมนั่ง เวลามีแขกต่างประเทศมา ผมชอบชวนอาจารย์มาด้วย เพราะท่านชอบคุยกับต่างชาติ ทำนองเดียวกัน อาจารย์มีเพื่อนหลากหลายวงการท่านก็แนะนำให้รู้จักผมจำนวนไม่น้อย ผมชวนท่านมาเรียนหลักสูตรธรรมศาสตร์เพื่อสังคมท่านก็มาเรียน ได้มีโอกาสไป ประเทศออสเตรียและฮังการี ไปนั่งเรือล่องแม่น้ำดานูบกันก่อนโควิด ตอนหลังๆอาจารย์ภิรมย์ ชอบมาบ้านผมเกือบทุกอาทิตย์ เอากล้วยที่บ้านของท่านมาให้ อาจารย์ดูแข็งแรงดีตลอด อาจารย์ภิรมย์เริ่มมีอาการท้องผูกตั้งแต่เดือนตุลา 2566 ได้ไปตรวจรักษาที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง แต่ได้รักษาแค่ตามอาการ จากนั้นเมื่อเดือนกุมภาปี 2567 เริ่มมีอาการท้องผูกและท้องอืดมากขึ้น เคยถ่ายอุจจาระเป็นเลือดบางครั้ง จึงได้ไปส่องกล้องที่โรงพยาบาลแห่งนั้น พบว่าเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนล่าง และได้ทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์พบว่า มะเร็งได้แพร่กระจายไปที่ตับและมีลิ่มเลือดอุดตันในปอดด้วย แต่ทางโรงพยาบาลนั้นใช้เวลานานในการนัดพบแพทย์ จึงได้มาปรึกษาภรรยาผมซึ่งเป็นอาจารย์ภาควิชารังสีวิทยาโรงพยาบาลศิริราช ซึ่งเธอได้ช่วยให้อาจารย์ภิรมย์ได้มาตรวจกับอาจารย์แผนกเคมีบำบัดได้อย่างรวดเร็ว และได้แอดมิดในสัปดาห์นั้นเพื่อให้ยาเคมีบำบัดเลย ซึ่งตอนแรกอาจารย์ภิรมย์ปฏิเสธไม่อยากให้ แต่เมื่ออาจารย์ผู้เชี่ยวชาญได้คุยให้ฟังว่าจะมีโอกาสดีขึ้นในเปอร์เซ็นต์ที่ค่อนข้างสูง ผลข้างเคียงเรื่องอาเจียนน้อย เพราะสามารถให้ยากันอาเจียนได้ อาจารย์จึงตัดสินใจรับยาเคมีบำบัดที่โรงพยาบาลศิริราช ทั้งหมดประมาณสามคอร์สห่างกันประมาณ 2-3 สัปดาห์ ผลการทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ล่าสุดพบว่ามะเร็งที่แพร่กระจายมาที่ตับมีขนาดลดลงเหมือนดูจะดีขึ้น แต่อาจารย์ก็ยังมีอาการท้องผูกและคลื่นไส้อาเจียน ทานอะไรแทบไม่ได้ ไปตรวจเลือดพบว่ามีค่าโซเดียมต่ำและซีดมากจึงได้เข้าโรงพยาบาลศิริราชอีกครั้งเพื่อรับเลือดและให้น้ำเกลือ จากนั้นได้กลับบ้านไป เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคมที่ผ่านมา อาจารย์เริ่มมีหายใจเหนื่อย มีไข้ต่ำๆ อาการดูไม่ดีญาติจึงพามาโรงพยาบาลศิริราชปิะยมหาราชการุณย์ด่วน พบว่ามีการติดเชื้อในกระแสเลือด จึงได้รับการรักษาในไอซียู แต่อยู่ได้เพียงคืนเดียว เช้าวันที่ 12 พฤษภาคมอาจารย์มีความดันตกและสิ้นไปอย่างสงบในเช้าของวันที่ 12 พค นี้เอง เชื่อไหมว่าแม้ท่านจะป่วยมาก แต่ท่านส่งไลน์ และ Messenger คุยกับผมตลอดโดยเฉพาะเรื่องการแต่งงานของลูกผม ซึ่งเดิมผมกะจะเชิญท่านเป็นแขกมางานหมั้นในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเชิญเฉพาะคนสนิทกัน 40 คน แต่ท่านก็มาไม่ไหว แต่ได้อวยพรและส่งเงินมาช่วยงาน สองอาทิตย์ก่อนงานแต่งงานผมไปประเทศจอร์เจีย ผมได้โพสต์รูปตุ๊กตาต่างๆ ท่านสนใจมากๆ และบอกให้ผมเอาตุ๊กตามาฝาก ซึ่งผมก็ไปจัดหามาได้แล้ว1 ตัว ตามรูปที่โพสต์ไว้ นี้ กะจะให้ท่าน โดยกะเอาไปให้ท่านหลังงานแต่งงานลูกชายแต่ไม่ทัน อาจารย์มาด่วนจากไปเสียก่อน การจากไปของอาจารย์อย่างกระทันหันเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ทำให้ผมและทุกคนที่รักใคร่อาจารย์รู้สึกสูญเสียอย่างมหาศาล ไม่เพียงแต่ความรู้และประสบการณ์ที่อาจารย์ได้ส่งต่อให้แก่นักศึกษาและเพื่อนร่วมงานมาตลอด แต่ยังรวมถึงความอบอุ่น ความเข้าใจ และมิตรภาพที่อาจารย์มอบให้กับผมและทุกคนที่ได้สัมผัส ผมขอขอบคุณอาจารย์ที่เป็นเพื่อนที่ดีตลอดมา และขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งในการจากไปครั้งนี้ ผมหวังว่าอาจารย์จะได้พบกับความสงบและความสุขในภพชาติหน้า ด้วยความรักและอาลัย อาจารย์นงเยาว์ ชัยเสรี ที่ผมรู้จัก ในวันที่ 14 มกราคม 2567 นี้จะมีพิธีพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์คุณหญิงนงเยาว์ ชัยเสรี ในฐานะที่ผมเคยเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของท่าน และได้ร่วมทำงานกับท่านในหลายๆเรื่อง ผมเลยอยากเขียนเรื่องของท่าน เพื่อเป็นการบันทึกไว้ โดยในการเขียนของผมนั้น คงไม่เน้นเขียนถึงคุณูปการที่ ท่านมีให้กับธรรมศาสตร์ และสังคมไทย เพราะเชื่อว่ามีผู้เขียนเรื่องดังกล่าวมากพอสมควรแล้ว แต่สิ่งที่ผมเน้นคือ ประสบการณ์ส่วนตัวที่ได้สัมผัสกับท่าน รวมถึงทรงจำที่ดีของผมเกี่ยวกับท่าน จำได้ว่าได้รู้จัก ชื่อ ท่านอาจารย์นงเยาว์เป็นครั้งแรก ตอนที่ท่านมาเป็น รองอธิการบดี สมัยที่อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นอธิการบดีธรรมศาสตร์ราวปี 2518 ซึ่งตอนนั้นผมเป็นนักศึกษาอยู่ เป็นการรู้จักท่านข้างเดียว ในฐานะที่เป็นนักศึกษาที่ทำกิจกรรมผมจะรู้จักรองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษามากกว่า คืออาจารย์บันลือ คงจันทร์ แต่จำได้ว่าได้เคยไปพบกับท่านอาจารย์นงเยาว์ครั้งหนึ่งตามเพื่อนเพื่อนไปที่ไปร้องเรียนท่านเรื่องระบบลงทะเบียนเลือกเรียนวิชา (สมัยนั้นมหาวิทยาลัยจัดให้นักศึกษาลงทะเบียนที่หอประชุมใหญ่) ซึ่งตอนนั้นมีปัญหามาก แต่ที่ทำที่จำได้แน่นอนและมีผู้เขียนถึงเรื่องนี้ คือตอนที่ผมได้เขียนจดหมายถึงอาจารย์ ขออนุญาตให้นายเบอร์นาร์ด ยาโดแขกอินเดียที่ขายถั่วประจำที่ธรรมศาสตร์เข้ามาขายในมหาวิทยาลัยอย่างเป็นทางการหลังโดนห้ามเข้าขายในมหาวิทยาลัยเพราะเกิดกรณี นักเรียนอาชีวะบุกธรรมศาสตร์ ทำให้มหาวิทยาลัยต้องเข้มงวดกับคนที่จะเข้ามามหาวิทยาลัย อาจารย์นงเยาว์ มามีบทบาทสำคัญอีกครั้งในช่วง 6 ตุลาคม 2519 ที่ธรรมศาสตร์เกิดวิกฤต แม้ช่วงนั้นสถานการณ์จะไม่ปลอดภัยสำหรับผู้บริหารมหาวิทยาลัย มีคนจำนวนมากที่เชื่อว่าผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้ท้ายนักศึกษาที่ชุมนุมในมหาวิทยาลัยแต่อาจารย์นงเยาว์เข้ามาดูแลนักศึกษาและอาจารย์ที่ถูกจับกุมจากเหตุการณ์ทหารเข้ายึดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถือเป็นความกล้าหาญและแสดงถึงภาวะความเป็นผู้นำของท่าน หลังจากนั้น ผมไม่ได้พบกับท่านอาจารย์นงเยาว์หรือติดต่อกับท่านอีก จนกระทั่งผมเรียนจบปริญญาเอกจากต่างประเทศมาปี 2526 และมาใช้ทุนโดยการเป็นอาจารย์ที่ธรรมศาสตร์ ตอนนั้นท่านเป็นอธิการบดีของธรรมศาสตร์พอดี ผมมีโอกาสไปร่วมงานกิจกรรมของมหาวิทยาลัย ที่มีท่านอยู่ในงานหลายครั้งแต่จำได้ว่าได้มารู้จักพูดคุยกับท่านครั้งแรกจากการที่ท่านมารับประทานอาหารที่สโมสรอาจารย์ (ตั้งอยู่ชั้นสองหลังตึกคณะเศรษฐศาสตร์)ซึ่งผมเป็นกรรมการอยู่ ซึ่งหลังจากพบกันครั้งนั้นท่านก็จำผมได้ ผมก็รู้สึกดีใจที่ผู้ใหญ่รู้จักเรา จำได้ว่าครั้งหนึ่งผมกำลังได้ทุนไปทำวิจัยที่ญี่ปุ่น 10 เดือน พอดีลูกคนหนึ่งของท่านก็จะไปญี่ปุ่นเช่นกัน ท่านก็สอบถามเรื่อง การฝากจองหอพักที่ผมจะไปอยู่ แต่ท่านขี้เกรงใจ จึงบอกว่าถ้าลูกของท่านไปญี่ปุ่นก็ไม่ต้องมาดูแลอะไร เมื่อผมกลับจากญี่ปุ่น ผมมาเป็นรองคณบดีฝ่ายการนักศึกษา ของอาจารย์สุพจน์ จุนอนันตธรรม ทำให้ผมได้มีโอกาสติดสอยห้อยตามท่านอาจารย์สุพจน์ไปงานของมหาวิทยาลัยบ้าง ในบางครั้งก็ได้ไปแทนท่าน ซึ่งตอนนั้นเป็นปลายสมัยอธิการบดีของท่านอาจารย์นงเยาว์ แม้ไปงานเดียวกัน แต่ก็ไม่ได้ใกล้ชิดท่าน แค่สังเกตอยู่ห่างๆ ว่าท่านทำอะไรบ้าง สิ่งหนึ่งซึ่งเป็นบุคลิกเฉพาะตัวที่ประทับใจผม คือ สไตล์การทำงานของท่าน ท่านเป็นคนพูดตรงไปตรงมา ชอบก็บอกชอบ ไม่ชอบก็บอกไม่ชอบ และกล้าชน เคยฟังดีเบตของท่านกับคนร่วมประชุม ผมเองยอมรับว่าทำไม่ได้อย่างท่าน และการที่ท่านเป็นคนตรงๆแบบนี้ บางคนอาจไม่ได้ชอบท่าน จึงมีการวิพากษ์วิจารณ์ท่านเรื่องโน้นเรื่องนี้ ก็เป็นธรรมดาของผู้บริหารที่ต้องเจอเรื่องนี้ แต่ที่ไม่ค่อยแฟร์กับท่านคือ ตอนหลังผมจำได้ว่ามีใบปลิวหรือบัตรสนเท่ห์ในมหาวิทยาลัยตำหนิติเตียนท่าน ซึ่งไม่ใข่เรื่องจริง แต่ไม่รู้ว่าสิ่งเหล่านี้ทำให้ท่านเบื่อระอาหรือไม่ จนทำให้ท่านถึงบอกว่าจะรับตำแหน่งอธิการบดีสมัยที่สองครึ่งเทอม ในระหว่างที่ท่านเป็นอธิการบดีนั้น จำได้ว่า ผมเคยไปธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิตกับท่านครั้งสองครั้ง ยอมรับว่าการเรียนและการใช้ชีวิตที่ศูนย์รังสิตสมัยนั้นลำบากมาก นับแต่การเดินทาง ที่ไม่มีทางด่วนแบบสมัยนี้ หอพักนักศึกษาก็ไม่เพียงพอ ห้องเรียนร้อน ร้านอาหารต่างๆ มีน้อย เวลาจะเลี้ยงแขกของมหาวิทยาลัยต้องไปใช้ AIT มีผู้ทรงอิทธิพลในพื้นที่ ฯลฯ แต่ผมก็เข้าใจถึงความมุ่งมั่นของท่านที่จะสร้างรังสิตให้เป็นเมืองมหาวิทยาลัย มีหลายอย่างที่ท่านพยายามทำให้ธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิตเกิดขึ้นให้ได้ที่พวกเราอาจไม่ทราบเช่นท่านเตรียมการสร้างสถานีรถไฟที่ธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิตไว้ให้นักศึกษาและบุคคลากรได้ใช้ โดยไปขอทุนสร้างสถานีรถไฟไว้เสร็จเรียบร้อย แต่ปรากฎว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยไม่ยอมให้รถไฟไปจอดรับส่งผู้โดยสารในที่ที่มหาวิทยาลัยเตรียมไว้ โดยให้เหตุผลว่ามีสถานีเชียงรากแล้วในที่สุดเมื่อไม่ได้สร้างสถานีรถไฟแน่ๆ ท่านต้องพาผมในช่วงที่เป็นอธิการบดีฯ ไปขอโทษเจ้าของทุนที่บริจาคเงินให้สร้างสถานีรถไฟ และขอนำเงินนี้ไปใช้ประโยชน์ในกิจการอื่นของมหาวิทยาลัย โดยส่วนตัวแล้ว ผมชื่นชมท่านที่ตัดสินใจประกาศให้นักศึกษา ที่เข้าเรียนธรรมศาสตร์ตั้งแต่ปี 2529 ต้องไปเรียนที่ศูนย์รังสิตหนึ่งปี แม้ทุกอย่างจะยังไม่พร้อม และต้องยอมรับว่าตอนนั้นมีผู้ไม่เห็นด้วยกับท่านไม่น้อยโดยเฉพาะพวกคณาจารย์ แต่คิดไปแล้ว ท่านอาจารย์นงเยาว์ท่านมีวิสัยทัศน์ โดยเฉพาะว่าถ้าเราไม่ตัดสินใจเริ่มเดินก้าวแรก แล้วก้าวสองจะตามมาได้อย่างไร ซึ่งเมื่อย้อนระลึกความหลังดูแล้ว ต้องบอกว่า ท่านอาจารย์นงเยาว์และผมมีความคิดเกี่ยวกับการพัฒนาธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิตเหมือนกันว่าถ้ารอให้ทุกอย่างสมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์จะไม่มีวันที่ธรรมศาสตร์จะขยายไปศูนย์รังสิตได้ดังนั้นในอีกสิบกว่าปีต่อมาเมื่อผมเป็นอธิการบดีผมจึงไม่กลัวที่จะดำเนินการตามมติสภามหาวิทยาลัย คือ นักศึกษาปริญญาตรี ไปเรียนที่รังสิตทั้งสี่ปี ทั้งๆที่รู้ว่า ทุกอย่างยังไม่สมบูรณ์แบบ และ ต้องเจอการต่อต้านอย่างแน่นอน แต่ผมก็ยึดเอาวิธีการของท่านอาจารย์นงเยาว์เป็นแม่แบบ จำได้ว่าท่านเคยบอกผมว่า ผู้บริหารต้องมีความกล้าหาญ ในการตัดสินใจในสิ่งที่อาจจะไม่เป็นที่นิยมชมชอบของคนส่วนใหญ่ แต่เป็นประโยชน์ต่อมหาวิทยาลัย ดังนั้นผมจึงใช้วิธี ขยายไป แก้ปัญหาไปของท่านในการพัฒนาธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ท่านอาจารย์นงเยาว์เป็นอธิการบดีธรรมศาสตร์ถึงปี 2531 และท่านก็ออกจากธรรมศาสตร์ไป ในช่วงที่ท่านไม่อยู่ธรรมศาสตร์ ผมยังสัมผัสท่านอยู่บ้างเพราะได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติสาขาเศรษฐศาสตร์พร้อมกับท่าน แม้ว่าท่านอาจารย์จะห่างจากธรรมศาสตร์ แต่ชื่อเสียงเกียรติคุณความทรงจำที่ดีสมัยที่ท่านเป็นอธิการบดีมหาลัยธรรมศาสตร์ยังอยู่ในใจของพวกเราท่านจึงได้กลับมาธรรมศาสตร์อีกครั้งหนึ่งในปี2536ในฐานะนายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งการสรรหานายกสภามหาลัยธรรมศาสตร์ครั้งนั้น ผมเป็นกรรมการสรรหาด้วย เพราะในปีนั้นผมได้ดำรงตำแหน่งประธานสภาอาจารย์พอดีต้องเรียนว่าครั้งนั้นมีการสอบถามความคิดเห็นคณาจารย์และบุคลากรถึงคนที่สมควรเป็นนายกสภามหาวิทยาลัยซึ่งทำให้มีคนเสนอชื่อบุคคลที่มีชื่อเสียงภายนอกเข้ามาด้วยหลายคน ทำให้ไม่ได้มีชื่อแคนดิเดตนายกสภามหาวิทยาลัยเพียงท่านเดียว แต่สภาอาจารย์ที่ผมเป็นประธานประชุมกันแล้ว เราเสนอชื่อท่านอาจารย์นงเยาว์ท่านเดียวหลังจากที่ได้มีการปรึกษาหารือกันพอสมควรในคณะกรรมการสรรหานายกสภามหาวิทยาลัย ในที่สุดเราได้ท่านอาจารย์นงเยาว์มาเป็นนายกสภามหาลัยธรรมศาสตร์ หลังจากท่านอาจารย์นงเยาว์ ได้มาเป็นนายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ไม่นาน ผมก็กำลังจะหมดตำแหน่งประธานสภาอาจารย์ ผมก็ได้รับทาบทามจากท่านอาจารย์นรนิติ เศรษฐบุตรให้มาร่วมทีมบริหารมหาวิทยาลัยของท่านในตำแหน่งรองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนาซึ่งแม้ว่าผมจะเป็นรองอธิการบดีของท่านอาจารย์นรนิติ เศรษฐบุตรแต่ผมก็โชคดีนอกจากได้ทำงานกับท่านอาจารย์นรนิติแล้วยังมีโอกาสทำงานใกล้ชิดกับท่านอาจารย์นงเยาว์ด้วย เพราะเมื่อท่านเป็นนายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่านก็ทำงานเต็มที่ บางเรื่องท่านลงมาหาข้อมูลเองมีสองเรื่องใหญ่ที่ผมได้ทำงานกับท่าน ท่านผลักดันและให้ความสำคัญอย่างมากและในที่สุดเป็นผลสำเร็จคือ เรื่องที่ 1 การจัดตั้งคณะทันตแพทย์ศาสตร์และคณะสหเวชศาสตร์ ซึ่งในวันที่ผมมารับตำแหน่งรองอธิการบดี ธรรมศาสตร์มีแค่ชื่อสองคณะที่อยู่ในแผน แต่ไม่มีบุคลากรงบประมาณอะไรทั้งสิ้นการที่เกิดคณะทั้งสอง ขึ้นได้ผมต้องวิ่งไปมาหลายครั้ง ระหว่าง หน่วยงานเหล่านี้คือ สำนักงบประมาณ คณะทันตแพทย์จุฬา คณะเทคนิคการแพทย์มหาลัยมหิดล ท่านอธิการบดีนรนิติและ ท่านนายกสภาคือท่านอาจารย์นงเยาว์ จนในที่สุด เราได้บุคลากรสำคัญซึ่งต่อมาได้เป็นคณบดีผู้ก่อตั้งสองคณะคือ อาจารย์ประทีป พันธุมวนิช สำหรับคณะทันตแพทย์ศาสตร์ และอาจารย์วิฑูรย์ ไวยนันท์ สำหรับคณะสหเวชศาสตร์ มาทำให้ความตั้งใจของท่านอาจารย์เป็นจริง เรื่องที่ 2 คือโครงการธรรมศาสตร์ที่พัทยา จำได้ว่าท่านอาจารย์นงเยาว์ สมัยที่ท่านอธิการบดี ได้ไปรับบริจาคที่ดินจากดร.ถาวร พรประภาที่พัทยา เพื่อสร้างธรรมศาสตร์ศูนย์พัทยา แต่หลังรับมอบมาแล้วเกือบ 10 ปี ทุกอย่างยัง ไม่เป็นรูปธรรม ทั้งท่าน อาจารย์นงเยาว์และอาจารย์นรนิติ จึงได้มอบนโยบายให้ผมดำเนินการเรื่องให้ได้ จนในที่สุดผมร่วมกับคุณสมนึก พิมลเสถียร ศิษย์เก่าธรรมศาสตร์จากสำนักงบประมาณ และอาจารย์ มรว พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ ร่วมกันร่างแผนก่อตั้งวิทยาลัยนวัตกรรมอุดมศึกษาที่พัทยาจนสำเร็จ พร้อมทั้งได้งบประมาณและทางมหาวิทยาลัยได้กราบบังคมเชิญในหลวง ร.10 เมื่อครั้ง ทรงพระราชอิศริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเสด็จพระราชดำเนินมาวางศิลาฤกษ์อาคารแรกของวิทยาลัยแห่งนี้ และผมยังได้รับตำแหน่งผู้อำนวยการวิทยาลัยนวัตกรรมอุดมศึกษาเป็นคนแรกในช่วงปี 2540 ถึง 2541 ก่อนที่ผมจะมาเป็นอธิการบดี ผมเป็นรองอธิการบดีฝ่ายวางแผนได้ปีเดียว ผมก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ในปี 2537 แต่ผมก็ยังทำงานกับท่านอาจารย์นงเยาว์อยู่ในฐานะที่ผมได้รับเลือกให้เป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยประเภทตัวแทนผู้บริหารผมจึงได้พบท่านเป็นประจำในการประชุมสภามหาวิทยาลัย ซึ่งทำให้ได้เรียนรู้เรื่องราวของธรรมศาสตร์อีกหลายเรื่องจากท่าน และมีโอกาสพบกับท่านนอกรอบเป็นครั้งคราว ผมจำได้ว่าได้อยู่ในช่วงที่ท่านเป็นนายกสภาฯ สภามหาวิทยาลัยมีปัญหาใหญ่ๆสองครั้ง ครั้งแรกเป็นช่วงรอยต่อ อธิการบดีนรนิติ เศรษฐบุตร และอาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ วิกฤติสภามหาวิทยาลัยตอนนั้นเป็นอย่างไร ผมขอไม่เล่า แต่สิ่งหนึ่งที่ผมจำได้เกี่ยวกับท่านอาจารย์นงเยาว์คือการตัดสินใจที่เด็ดเดี่ยวของท่านในตอนนั้น ทำให้ธรรมศาสตร์รอดจากปัญหาความขัดแย้งครั้งสำคัญไปได้ และทำให้ผมซึ้งกับคำว่า duty comes before pleasure หรือการยอมกลืนเลือดของผู้นำอย่างท่าน และอีกครั้งหนึ่งที่ มหาวิทยาลัยเกิดปัญหา อาจารย์ชาญวิทย์ลาออกจากตำแหน่งอธิการบดีหลังจากเป็นปฎิบัติหน้าที่ไปเพียงเก้าเดือน และก่อนที่ปัญหาเกิดการลาออกออกจะบานปลายต่อไป เราก็เห็นความเป็นผู้นำของท่านอาจารย์นงเยาว์ เมื่อท่านได้ตัดสินใจไปทาบทามท่านศาสตราจารย์ดร.พนัส สิมะเสถียร ซึ่งตอนนั้นเป็นปลัดกระทรวงการคลังมาเป็นผู้รักษาการในตำแหน่งอธิการบดีธรรมศาสตร์ซึ่งเป็นการตัดสินใจที่ชาญฉลาดทำให้ทุกฝ่ายยอมรับได้และธรรมศาสตร์ก็ผ่านพ้นวิกฤตไปอีกครั้งหนึ่ง ผมมาเป็นอธิการบดีปี 2541 ต้องยอมรับว่าวันนั้นประสบการณ์ในการบริหารมหาวิทยาลัยของผมยังมีน้อย เพราะผมทำงานธรรมศาสตร์เพียง 15 ปีเองและได้มาเป็นอธิการบดีเมื่ออายุ 43 ปี โชคดีได้ครูดี คือท่านอาจารย์นงเยาว์ นับตั้งแต่วินาทีที่ได้เป็นอธิการบดีท่านได้แนะนำเลยในสภามหาวิทยาลัยเลยว่า อธิการบดีจะต้องทำอะไรบ้าง และโดยส่วนตัว ท่านเอ็นดูผม ท่านให้คำแนะนำผมเป็นการส่วนตัวลงลึกไปถึงกระทั่งว่า เมื่อได้เป็นอธิการบดีแล้ว ต้องไปกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ในมหาวิทยาลัยแล้วจะต้องอธิษฐานหรือบอกกล่าวท่านอย่างไร ถึงจะมีโอกาสทำงานต่อเนื่องได้นานๆ ท่านสอนเทคนิคการระดมทุนให้มหาวิทยาลัยแก่ผม(ซึ่งถือว่าไม่มีผู้บริหารท่านใดจะระดมทุนเก่งเท่ากับท่าน) สอนว่าจะทำยังไงให้ผู้คนได้รู้จักเราเพื่อที่จะได้ขอความสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยได้ทำงานสะดวก เพราะท่านกับผม เหมือนกันอยู่อย่างหนึ่ง คือเราเป็นอธิการบดีที่ไม่ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการบ้านการเมืองเท่าไร อาจทำให้คนภายนอกรู้จักเราน้อยแต่ผมอาจจะโชคดีกว่าท่านหน่อยนึงตรงที่ว่าคนมารู้จักผมมากจากข่าวการต่อต้านการขยายธรรมศาสตร์ไปยังศูนย์รังสิต เลยไม่ต้องแนะนำตัวมาก โดยสรุปผมอยากจะบอกว่า ผมโชคดีกว่าอธิการบดีมหาวิทยาอื่นๆในยุคเดียวกัน เพราะผมมีครูที่ดีเป็นโค้ชตั้งแต่เริ่มทำงาน อย่างไรก็ดี ผมได้ทำงานภายใต้การเป็นนายกสภามหาวิทยาลัย ของท่านอาจารย์นงเยาว์ได้ประมาณปีเศษเท่านั้น เพราะท่านต้องไปรับตำแหน่ง กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ต้องบอกว่าผู้ที่มีส่วนสำคัญให้ท่านอาจารย์ได้ไปเป็นกรรมการชุดนี้ก็คือผมเอง ต้องยอมรับว่าผมศึกษา เรื่องคุณสมบัติของกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน แบบไม่รอบคอบ ไม่ทราบเลยว่า ถ้ารับตำแหน่งนี้ท่านจะเป็นนายกสภามหาวิทยาลัยไม่ได้ เพราะเป็นครั้งแรกที่มีการสรรหากรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และหนึ่งในกรรมการสรรหานั้นก็คือผมเอง ผมนึกอย่างเดียวว่า ถ้าอาจารย์เข้าไปรับตำแหน่งนี้ ความที่อาจารย์เป็นคนรอบคอบละเอียดใครทำอะไรไม่ดี ย่อมไม่อาจจะผ่านสายตาอาจารย์ไปได้แน่นอน อย่างไรก็ตาม แม้ผมทำงานกับท่านเป็นระยะเวลาสั้นๆ แต่ก็ได้ผลักดันสิ่งหนึ่งสำเร็จคือการเปลี่ยนโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติให้เป็น university hospital คงทราบกันดีว่าโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติก่อตั้งโดยท่านอาจารย์นงเยาว์ แต่หลังจากการก่อตั้งและมีคณะแพทย์ศาสตร์แล้ว มีการดำเนินการบริหารงานโรงพยาบาลให้อยู่ภายใต้กำกับของคณะแพทย์ศาสตร์แม้คณะแพทย์ศาสตร์จะมีบุคลากรทำงานในโรงพยาบาลมากแต่ยังมีคณะอื่นที่ใช้บริการที่ต้องใช้บริการโรงพยาบาลเช่นทันตแพทย์พยาบาลศาสตร์ สหเวชศาสตร์ เป็นต้น ดังนั้นการคณะแพทย์ศาสตร์เป็นผู้ดูแลโรงพยาบาล มีความเป็นไปได้ที่อาจจะไม่ตอบสนองต่อความต้องการของคณะอื่นๆเท่าที่ควร ท่านอาจารย์นงเยาว์ จึงมีแนวคิดให้นำโรงพยาบาลกลับมาให้มหาวิทยาลัยบริหารเอง ซึ่งผมก็ตัดสินใจดำเนินการตามนโยบายของท่าน ต้องยอมรับว่า การดำเนินการดังกล่าวทำให้ผมไม่เป็นที่รักใคร่นักในกลุ่มบุคลากรคณะแพทย์ศาสตร์บางท่าน แต่เป็นสิ่งที่ต้องทำและจำเป็นต้องทำ ผมก็ดำเนินการจนสำเร็จโดยโดยการสนับสนุนของท่านอาจารย์นงเยาว์ อีกเรื่องหนึ่งที่ท่านเห็นด้วยกับผม และอาจารย์กําชัย จงจักรพันธ์ (ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกฎหมายในขณะนั้น) และได้ดำเนินการจนสำเร็จ คือการนำศูนย์กีฬาเอเชียนเกมส์มาให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์บริหารเอง เพราะช่วงนั้นมีเสนอให้จัดตั้งเป็นองค์กรมหาชนเข้ามาบริหาร และธรรมศาสตร์เป็นแค่หนึ่งในกรรมการขององค์กรมหาชนนั้น ซึ่งผมและท่าน เห็นพ้องกันว่ารูปแบบการบริหารงานศูนย์กีฬาแบบองค์กรมหาชนจะไม่อาจตอบสนองความต้องการของนักศึกษาธรรมศาสตร์ได้ และแท้จริงเรามีศักยภาพในการบริหารศูนย์กีฬาของเราเอง ซึ่งก็ได้มีการพิสูจน์ให้เห็นเป็นประจักษ์ในเวลาต่อมา หลังจากที่อาจารย์ไปอยู่ที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินผมก็ห่างอาจารย์ไปบ้างในเรื่องการทำงานให้ธรรมศาสตร์ และแต่ได้พบกับท่านอาจารย์เนืองเนือง ในโอกาสต่างๆ เช่น งานทำบุญวันเกิดของท่านที่วัดชนะสงคราม หรือเมื่อธรรมศาสตร์มีงานของมหาวิทยาลัยโดยเฉพาะงานเรื่องเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาท่านไม่เคยขาด ซึ่งเวลาที่พบกัน ส่วนใหญ่ท่านก็ อดไม่ได้ที่จะถามถึงความก้าวหน้าของธรรมศาสตร์ในเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะท่านเป็นห่วงและให้กำลังใจผมเรื่องการถูกต่อต้านในการขยายมหาวิทยาลัยไปยังศูนย์รังสิต เมื่อผมเป็นอธิการบดีครบสองสมัยและผมย้ายไปรับราชการกระทรวงการคลังในปี 2547 ยังจำคำพูดของท่านอาจารย์ที่บอกผมว่า “อาจารย์ถือเป็นผู้ใหญ่ของธรรมศาสตร์คนหนึ่ง แม้ไม่ได้ทำงานที่มหาวิทยาลัยแล้วแต่ก็อย่าทิ้งธรรมศาสตร์” ผมก็จำคำของอาจารย์ได้แม่นและก็ไม่ได้ไปไหน ผมยังช่วยธรรมศาสตร์มาตลอด โดยเฉพาะผมยังสอนหนังสือโดยมีวิชาสอนประจำที่ธรรมศาสตร์ พึ่งมาเลิกสอนตอนช่วงโควิดนี่เอง ผมร่วมระดมทุนให้ธรรมศาสตร์ไม่เคยขาด โดยเฉพาะเมื่อผมมารับตำแหน่งนายกสมาคมธรรมศาสตร์ในพระบรมราชูปถัมภ์เมื่อปี 2550 ถึง 2553 ผมได้ระดมทุนเพื่อมาปรับปรุงสมาคมธรรมศาสตร์ที่ได้ก่อสร้างครั้งแรกเมื่อปี 2523 เพื่อให้เป็นสถานที่ที่ชาวธรรมศาสตร์ได้มาพบปะสังสรรค์และทำประโยชน์ร่วมกัน (ใช้งบประมาณปรับปรุงทั้งสิ้นราว 120 ล้านบาท ใช้นายกสมาคมถึงสามคน คือ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ตัวผมเองและคุณพิชัย ชุณหวิชร ช่วยกันจึงหาเงินจนได้ครบ )ซึ่งผมก็ขอท่านอาจารย์ให้มาช่วยระดมทุนครั้งนี้ด้วย ท่านก็ไม่ได้ปฏิเสธ และท่านก็มาปรากฏตัวในเกือบทุกงานที่ผมจัดเพื่อธรรมศาสตร์ แม้ผมไม่ได้ไปมาหาสู่กับท่านอาจารย์ประจำ เมื่อเทียบกับ ลูกศิษย์คนอื่นๆของท่าน เช่นอาจารย์จารุพร ไวยนันท์ อาจารย์กุลภัทรา สิโรดม แต่ผมก็รู้สึกได้ถึงความเมตตาที่ท่านให้กับผมมาตลอด ยังจำได้ดีว่า เมื่อตอนผมอายุ 60 ปี เกษียณอายุราชการและออกจากธรรมศาสตร์ไปแล้วถึง 11 ปีท่านอาจารย์ได้ให้ความกรุณาจัดงานเลี้ยงเกษียณอายุราชการให้ผมที่ตึกช้าง และมีการเชิญผู้คนมาร่วมมากมาย เป็นความประทับใจที่อาจลืมเลือนได้ และที่พิเศษมากๆ อาจารย์มาร่วมกิจกรรมของนักศึกษา ธรรมศาสตร์ 2516 ที่ผมเป็นประธานหลายหลายครั้ง ครั้งสุดท้ายแม้ท่านจะเดินไม่ไหวท่านก็มาร่วมงานกับเรา เวลามาท่านจะพิมพ์เนื้อเพลงธรรมศาสตร์มาแจกพวกเรา และก็ร้องเพลงธรรมศาสตร์หมู่กับพวกเราทุกเพลง ผมยังวิดีโอบันทึกภาพท่านอยู่ อนึ่งพูดถึงการร้องเพลง ขอบันทึกขำๆไว้ว่า ความที่ท่านให้ความสนิทสนมกับผม ครั้งหนึ่งผมและอาจารย์ภาณุพงศ์ นิธิประภา อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์และรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการเคยชวนท่านไปร้องเพลงคาราโอเกะที่จังหวัดกระบี่ตอนเราไปสัมมนากัน ท่านก็ไม่ปฏิเสธแถมชวนเพื่อนร่วมรุ่นของท่านไปร้องด้วย อยู่กันดึกพอสมควร ความสัมพันธ์ของผมกับอาจารย์นงเยาว์ไม่ได้อยู่แค่งานของธรรมศาสตร์ ดังที่ผมได้ เล่าไปแล้วเรื่องสเปเชียลโอลิมปิค ที่ครั้งแรกผมแค่มาช่วยท่าน ต่อมาผมต้องมาเป็นประธานแทนท่าน จนทุกวันนี้ (23 ปีแล้ว) สภาวิจัยแห่งชาติสาขาเศรษฐศาสตร์ก็เป็นอีกองค์กรหนึ่งที่ผมทำงานกับท่าน เราเดินทางไปด้วยกันทั้งภาคเหนือภาคใต้จัดอบรมนักวิจัยรุ่นใหม่หลายครั้ง การที่ได้เดินทางกับอาจารย์ ทำให้ได้พูดคุยกับอาจารย์เป็นการส่วนตัวมากขึ้น ได้รู้ความคิดเห็นของอาจารย์ในหลายเรื่อง เรื่องหนึ่งที่ท่านไม่ค่อยได้พูดในที่สาธารณะ แต่ท่านคุยกับผมเป็นการส่วนตัวว่า ท่านไม่ชอบเลยที่ผู้บริหารเอามหาวิทยาลัยไปพัวพันการเมืองท่านไม่ได้เกลียดทหารแต่ท่านก็ไม่เห็นด้วยกับการปฏิวัติ นอกจากนั้นยังมีงานอีกเรื่องหนึ่งที่ท่านให้ผมไปช่วยท่านเป็นงานด้านศาสนาคือท่านเป็นประธานมูลนิธิสุทธธรรมวินิตส่งเสริมพระพุทธศาสนาและพัฒนาสังคมท่านให้ผมเป็นกรรมการช่วยท่านด้วย ไม่ทราบท่านคิดยังไงถึงเอาผมร่วม คนธรรมศาสตร์ท่านอื่นไม่เห็นชวนไป สันนิษฐานว่าเป็นเพราะท่านและผมเคยพบกันโดยไม่นัดหมาย เราไปปฎิบัติธรรมที่วัดท่ามะโอจังหวัดลำปางในช่วงเวลาเดียวกันอยู่หลายวัน ท่านก็เลยคิดว่าผมเป็นคนธรรมะธัมโมกระมัง อนึ่ง มีงานหนึ่งที่ท่านอาจารย์นงเยาว์มอบมาให้ผม และผมทำไม่สำเร็จ คือเรื่องสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย หรือ AIT จริงอยู่ธรรมศาสตร์ให้AITเช่าที่ของเราอยู่ ภายใต้เงื่อนไขว่าจะมีการร่วมมือที่เป็นประโยชน์ต่อมหาวิทยาลัยทั้งสอง และ AIT ต้องใช้ที่เราเพื่อประโยชน์ทางการศึกษาเท่านั้น แต่ที่ผ่านมา AIT ทำตัวไม่น่ารัก (รายละเอียดเรื่องนี้มีเยอะ ไม่ขอเล่าแต่อยากให้ไปอ่านหนังสือ 70 ปีธรรมศาสตร์ประกาศนาม) ดังนั้นเมื่อหมดสัญญาเช่า 30 ปีท่านขอให้ผมไปเจรจาใหม่ หรือไม่ก็ยกเลิกสัญญา พอดีช่วงที่หมดสัญญากันนั้นผมหมดวาระอธิการบดีพอดีเลยทำไม่สำเร็จ แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นหลักฐานว่าท่านอาจารย์นงเยาว์มองAITอย่างไรผมอยากให้ไปสังเกตป้ายชื่อมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ศูนย์รังสิต ว่าตั้งอยู่ตรงไหน จะเห็นว่ามีป้ายหนึ่งตั้งอยู่หน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ไม่ได้อยู่กลางมหาวิทยาลัย แต่ป้ายชื่อนั้นตั้งอยู่ที่ทางเข้าทางขวาของมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นทางเข้าร่วมกันของธรรมศาสตร์และ AIT ซึ่ง มองดูแล้ว ป้ายนี้อยู่กึ่งกลางระหว่างธรรมศาสตร์และAITพอดี เรื่องนี้ผมไม่เคยเขียนหรือเล่าที่ไหนมาก่อน เพราะไม่แน่ใจว่า ควรเปิดเผยไหม แต่ไหนๆก็ไหนๆแล้ว อยากจะบอกว่า ไอเดียตั้งป้ายตรงนี้มาจากท่านอาจารย์นงเยาว์ พอดีว่าปี 2541 มีผู้บริจาคให้สร้างป้ายชื่อแรกของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต (เงินบริจาคไม่มากคงทำได้ป้ายชื่อขนาดไม่ใหญ่)แต่ยังไม่กำหนดที่ว่าป้ายนั้นจะตั้งอยู่ตรงไหนผมกับท่านอาจารย์นงเยาว์นั่งรถตรวจงานมหาวิทยาลัยด้วยกัน ผมก็เลยเรียนท่านไปเรื่องนี้ ท่านคิดอยู่สักพักนึง ท่านก็พาผมไปชี้ที่ปักป้ายชื่อมหาวิทยาลัยตรงจุดนี้พอดี ดูท่านพอใจมากและก็ได้ผลจริงๆ เพราะหลังจากที่เราสร้างป้ายตรงตำแหน่งดังกล่าว อธิการบดี AIT มีจดหมายมาประท้วงผม แต่ผมก็ไม่ได้ตอบอะไร เพราะเราปักป้ายดังกล่าวในเขตมหาวิทยาลัยของเราไม่ได้ไปล้ำอาณาเขต AIT ผมเลยอยากบันทึกเรื่องนี้ไว้เป็น เป็นเกล็ดขำๆเกี่ยวกับอารมณ์ขันของท่านอาจารย์นงเยาว์ ที่AITอาจไม่ขำด้วย (อนึ่งเมื่อได้งบประมาณ ได้มีการสร้างป้ายชื่อของมหาวิทยาลัยที่ด้านหน้ากลางมหาวิทยาลัยในที่สุด) สำหรับงานสุดท้ายที่ผมได้ร่วมงานกับท่านและพบกันอยู่ตลอดเวลาในช่วงหลายปี ที่ผ่านมา คือการเป็นกรรมการมูลนิธิเพื่อโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติที่มีท่านศาสตราจารย์ ดร.พนัส สิมะเสถียรเป็นประธานท่านอาจารย์นงเยาว์เป็นรองประธานท่านให้ความสำคัญกับมูลนิธินี้อย่างมากทั้งการหาเงินเข้ามูลนิธิและใช้จ่ายเงินมูลนิธิเพื่อประโยชน์ ระยะหลังท่านไม่สบาย จึงได้แต่งตั้งอาจารย์นงเยาว์เป็นประธานกิตติมศักดิ์ และได้มอบหมายให้ผมเป็นรองประธาน แม้วันนี้ท่านอาจารย์จะไม่ได้อยู่กับเราแล้วแต่ผมคิดว่าตัวเองยังคงช่วยมูลนิธินี้ต่อไป และพยายามจะหาคนบริจาคเข้ามูลนิธิแห่งนี้ ทั้งนี้เพื่อสืบทอดเจตนารมณ์ของอาจารย์นงเยาว์ในการใช้มูลนิธินี้เป็นผู้สนับสนุนโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติอีกชั้นหนึ่ง สุดท้าย ทุกคำที่บอกเล่านี้ คือ ความทรงจำเล็กๆของคนคนหนึ่ง ต่ออาจารย์นงเยาว์ ชัยเสรี ผู้ยิ่งใหญ่ การจากไปของท่าน เหมือนดั่งดวงดาวที่ค่อยๆลับสู่ขอบฟ้า แต่แสงสว่างของดาวดวงนั้นยังส่องประกายอยู่ในห้วงคิดของผม ในฐานะผู้ที่ได้รับอานิสงส์จากท่าน ผมอยากให้มีการเก็บรวบรวมเรื่องราว และผลงานของท่าน ให้เป็นมรดกทางปัญญาแก่คนรุ่นหลัง ดั่งที่ธรรมศาสตร์ได้ยกย่อง ปูชนียะบุคคล อย่างอาจารย์ปรีดี พยมยงค์ อาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ และอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เพื่อเป็นเกียรติประวัติแก่ อาจารย์นงเยาว์ ชัยเสรี ผู้ที่ได้อุทิศชีวิตให้กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และชาติบ้านเมือง ในฐานะที่เป็นแบบอย่างอันเลอค่าของการให้และการอุทิศตน ดร.นริศ ชัยสูตร
อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ด้วยอานิสงส์ของญี่ปุ่นศึกษาที่กำลังเฟื่องในช่วงที่อาจารย์นงเยาว์ ชัยเสรีเป็นอธิการบดีธรรมศาสตร์ และที่ผมจบการศึกษาจากญี่ปุ่น สอนภาษาญี่ปุ่นและได้มีโอกาสเกี่ยวข้องกับการพัฒนาญี่ปุ่นศึกษา และโครงการก่อตั้งศูนย์ญี่ปุ่นศึกษาในศูนย์รังสิตที่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลญี่ปุ่นนั้น ทำให้ผมมีโอกาสทำงานภายใต้การชี้แนะของอธิการบดีคุณหญิงนงเยาว์ ชัยเสรีอยู่บ้าง ทำให้ผมมีโอกาสเรียนรู้การทำงานของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และได้พัฒนาตัวเองได้ระดับหนึ่ง ในช่วงปี 1986 – 1987 ผมได้รับทุนไปทำวิจัยที่มหาวิทยาลัยวาเซดะที่เป็นมหาวิทยาลัยเอกชนชั้นแนวหน้าคู่กับมหาวิทยาลัยเคโอของญี่ปุ่นนั้น มีอยู่วันหนึ่งทางมหาวิทยาลัยวาเซดะได้แจ้งให้ผมทราบว่า อาจารย์นงเยาว์ ชัยเสรีที่เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ผมสอนอยู่นั้นจะมาเยือนวาเซดะ ให้ผมไปร่วมต้อนรับด้วย ผมจำไม่ได้ว่าวันนั้นอธิการบดีนงเยาว์มากับใครบ้าง ในงานต้อนรับนั้นก็ได้เห็นผู้ใหญ่ทั้งสองสถาบันแสดงความชื่นชมสถาบันของอีกฝ่ายหนึ่งด้วยข้อมูลที่ค่อนข้างเป็นรูปธรรม ผมอดแปลกใจไม่ได้ที่บางเรื่องของสถาบันที่พวกท่านพูดถึงนั้นยังเป็นความรู้ใหม่ของผม ในโอกาสนั้นอธิการบดีนงเยาว์ก็ขอบคุณวาเซดะที่รับผมไปทำวิจัยทางด้านวรรณคดีญี่ปุ่น คิดว่าความรู้ที่ได้จากการทำวิจัยของผมจะนำไปสอนให้นักศึกษารู้จักและเข้าใจ รวมทั้งเป็นมิตรกับญี่ปุ่นมากขึ้น ทางวาเซดะก็บอกว่าดีใจที่ธรรมศาสตร์ส่งอาจารย์ไปทำวิจัยที่นั่นฯลฯ ผมที่นั่งฟังอยู่นั้นรู้สึกละอายใจจนรู้สึกหนาวๆ ร้อนๆ ได้แต่แสดงความถ่อมตน และบอกว่าจะศึกษาหาความรู้ให้เต็มที่ฯลฯ และดีใจที่ได้พบอธิการบดีธรรมศาสตร์ในแดนอาทิตย์อุทัย รู้สึกอบอุ่นใจฯลฯ อธิการบดีนงเยาว์ได้พูดคุยเรื่องการร่วมมือทางด้านต่างๆ กับทางวาเซดะ เช่นส่งอาจารย์ไปบรรยายในอีกสถาบันหนึ่ง ร่วมมือในการจัดสัมมนาทางวิชาการ อาจจัดที่ญี่ปุ่นหรือที่ไทยเป็นต้น ในโอกาสนั้นอธิการบดีนงเยาว์พูดขึ้นด้วยความชื่นชมว่า ทราบว่าทางวาเซดะได้พัฒนาเปียโนที่ไร้คนดีดได้ หากเป็นไปได้อยากของสักเครื่องหนึ่งไปไว้ที่ธรรมศาสตร์ จะดึงดูดความสนใจของผู้คนได้ไม่น้อย จะทำให้วาเซดะเป็นที่รู้จักกันในหมู่คนไทยได้มากขึ้น ฯลฯ ทางวาเซดะบอกว่าดีใจและแปลกใจที่อาจารย์นงเยาว์ทราบเรื่องที่วาเซดะผลิตเปียโนไร้คนดีด ทางวาเซดะบอกว่า ยังอยู่ในช่วงพัฒนา เมื่อได้ผลิตภัณฑ์เปียโนไร้คนดีดที่มีคุณภาพแล้ว จะพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ฯลฯ เรื่องเปียโนนั้นดูเหมือนไม่มีการพูดถึงอีกในเวลาต่อมา แต่ด้วยการส่งเสริมของอธิการบดีนงเยาว์ งานของศูนย์ญี่ปุ่นศึกษารวมทั้งญี่ปุ่นศึกษาโดยรวมในธรรมศาสตร์ก็พัฒนาไปเป็นอันมาก ผมก็โชคดีได้มีโอกาสเป็นประธานศูนย์ญี่ปุ่นศึกษาอยู่หนึ่งเทอม และเป็นบรรณาธิการวารสารญี่ปุ่นศึกษาที่ออกโดยศูนย์ญี่ปุ่นศึกษานานถึง 7 ปี ผมได้ลามือจากงานบริหารของศูนย์ญี่ปุ่นศึกษามาหลายสิบปี และได้เกษียณอายุราชการจากธรรมศาสตร์ก็นานสิบกว่าปีแล้ว แต่ภาพที่ได้มีโอกาสทำงานภายใต้การนำและการชี้แนะของอธิการบดีนงเยาว์ ชัยเสรีนั้นยังตราตรึงอยู่ในใจ สำนึกถึงพระคุณของท่านอยู่ตลอดเวลา ฯลฯ ผมทราบข่าวการจากไปของอาจารย์นงเยาว์ ชัยเสรีที่เป็นบุคคลแบบอย่าง เป็นปูชนียะบุคคลท่านหนึ่งของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้วยความเสียใจยิ่ง ท่านเป็นคนที่ทำให้ผมซึ้งในความหมายของคำว่า “ผู้ใหญ่” ขอให้ดวงวิญญาณของท่านจงไปจุติยังสรวงสวรรค์และเสวยทิพยสุขชั่วนิรันดร์เทอญ ด้วยความนับถือย่างสูง รศ. อาทร ฟุ้งธรรมสาร
อดีตอาจารย์ภาษาญี่ปุ่นในคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่านชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี คนที่ 20 พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน อดีตรองนายกฯ และตัวแทนนักศึกษาหลักสูตรนักบริหารระดับสูง”ผู้นำด้านเทคโนโลยี “รุ่นที่ 1 จัดโดยสถาบันวิทยาการธรรมศาสตร์เพื่อสังคม ร่วมกันแสดงความยินดีให้กับ ดร.มนตรี ฐิรโฆไท ที่ได้รับเลือกตั้งเป็น1 ใน คณะกรรมการประกันสังคมชุดใหม่ โดยตั้งความหวังว่ากิจการประกันสังคมจะเป็นความหวังด้านรัฐสวัสดิการแก่ผู้ประกันตนในยุคใหม่ต่อไป
สถาบันวิทยาการธรรมศาสตร์เพื่อสังคม ได้เปิดหลักสูตร "ผู้นำเทคโนโลยี" รุ่นที่ 1 โดยได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.นริศ ชัยสูตร ประธานกรรมการบริหาร สถาบันวิทยาการธรรมศาสตร์เพื่อสังคม กล่าวเปิดอบรมอย่างเป็นทางการ และปฐมนิเทศหลักสูตรโดย ดร.ชัยยันต์ เจริญโชคทวี รองผู้อำนวยการ สถาบันวิทยาการธรรมศาสตร์เพื่อสังคม พร้อมทั้งให้ผู้เข้าอบรมกล่าวแนะนำตนเองให้เพื่อนร่วมรุ่นได้รู้จักกัน
รายงานตัวแล้ว นมธ.Tech รุ่นที่ 1
ก่อนจะเริ่มอบรม 27 พฤศจิกายน นี้ ขอเชิญสมัคร หรือแนะนำผู้สมัคร ( 10 ที่สุดท้าย) เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของสังคม นมธ. วันอังคารที่ 27 มิถุนายน 2566 สถาบันวิทยาการธรรมศาสตร์เพื่อสังคม "นมธ." นำโดย รศ.ดร.นริศ ชัยสูตร ประธานสถาบันฯ พร้อมด้วยประธานรุ่น นมธ.รุ่นที่ 20 และตัวแทนนักศึกษา หลักสูตรนักบริหารระดับสูง"ธรรมศาสตร์เพื่อสังคม"
ร่วมบันทึกเทปถวายพระพร ในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ประจำปี 2566 ณ กรมประชาสัมพันธ์ ถนนวิภาวดี-รังสิต คณะผู้บริหาร และนมธ.รุ่นที่ 16 - 20 เข้าเยี่ยมคารวะเอกอัครราชทูตไทยกรุงบูคาเรสต์ประเทศโรมาเน5/15/2023 วันศุกร์ที่ 7 เมษายน 2566 สถาบันวิทยาการธรรมศาสตร์เพื่อสังคม โดย รองศาสตราจารย์ ดร. นริศ ชัยสูตร ประธานกรรมการบริหาร พร้อมด้วย ดร.มนตรี ฐิรโฆไท ผู้อำนวยการ และ ดร.ชัยยันต์ เจริญโชคทวี รองผู้อำนวยการ นำตัวแทนคณะผู้เข้าอบรมหลักสูตรนักบริหารระดับสูง “ธรรมศาสตร์เพื่อสังคม” รุ่นที่ 16 - 20 เข้าเยี่ยมคารวะ ฯพณฯ ดาว วิบูลย์พานิช เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงบูคาเรสต์ ประเทศโรมาเนีย
มูลนิธิสถาบันวิทยาการธรรมศาสตร์เพื่อสังคม ขอแสดงความยินดีแด่ ศาสตราจารย์ ดร. สมคิด เลิศไพฑูรย์ประธานมูลนิธิสถาบันวิทยาการธรรมศาสตร์เพื่อสังคม เนื่องในโอกาสที่ได้รับพระราชทาน เหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา ประจำปี ๒๕๖๕ สาขานิติศาสตร์
|
ทีมงานนมธ.
ทีมคณะทำงานมูลนิธินมธ. ข่าวตามเดือน
August 2024
ประเภทข่าว
All
|